ดอลลาร์ถูกขายทำกำไร หลังความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนดูผ่อนลง
- admin
- 0
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 1 เมษายน 2565
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่เป็นดัชนีชี้วัดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับค่าเงินสกุลหลักยังปรับตัวอยู่แถวระดับ 99.0 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ 2.48%
โดยนักลงทุนกำลังประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้เปิดเผยในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน พ.ค.ที่จะถึง
ทั้งนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนได้ให้น้ำหนักถึง 76.8% ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 32.9% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ค่าเงินดอลลาร์ได้อ่อนค่าลงในวันพุธ (30/3) เทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังคลายกังวลเกี่ยวกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ภายหลังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงอิสตันบูลประเทศตุรกี ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยใช้เวลากว่า 3 ชม. ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดนับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มการเจรจาเป็นต้นมา
โดยทางนายเมฟลุต คาวูโชกลู รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศตุรกีระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียและยูเครนจะหารือในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ทางกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะลดปฏิบัติการทางทหารลงอย่างมากรอบกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน รวมทั้งเมืองเซอร์นิฮิฟ โดยนายโฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียประกาศปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวเพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างรัสเซียและยูเครน และเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเจรจาสันติภาพในครั้งต่อไปของรัสเซียและยูเครน
ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสหรัฐนั้น สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 17,000 ตำแหน่งสู่ระดับ 11,266 ล้านตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่ง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 107.2 ในเดือนมีนาคม และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล หรือ PCE พื้นฐานพุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2526 นอกจากนั้น รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับสื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรทางการเงินที่ชาติตะวันตกใช้ลงดาบรัสเซียอาจดทอนความสำคัญของค่าเงินดอลลาร์ และอาจส่ผลให้ระบบการเงินโลกมีการกระจายตัวมากขึ้น
โดยขณะนี้มีบางประเทศที่กำลังพิจารณาเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่น ๆ ในการค้าโลกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องกระจายการถือสินทรัพย์สำรองมากขึ้นด้วย
สำหรับการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ในวันจันทร์ (28/3) ค่าเงินบาทเปิดตลาดในตอนเช้าที่ระดับ 33.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 33.55/57 บาท ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและอาจจะกดดันต่อการฟื้นตัว
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้กลับมาแข็งค่าลงอย่างมากในวันพุธ (30/3) จากความคาดหวังการเจรจารอบใหม่ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่อเค้าดี ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ตลาดในประเทศไทยให้ความสนใจในสัปดาห์นั้นอยู่ที่การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (กนง.) ในวันพุธ โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตามคาด พร้อมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวลง
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายก่อนจะทยอยลดและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทาง กนง.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงจากเดิม 3.4% เป็น 3.2% และปี 2566 ลงจากเดิม 4.7% เป็น 4.4% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 33.44/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (28/3) ที่ระดับ 1.10971/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 1.1002/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน
นอกจากนั้นแล้วค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันภายหลังจากที่สถาบัน Ifo ได้เปิดเผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีที่ลดลงในเดือน มี.ค. เนื่องจากสถานการณ์ด้านห่วงโซ่อุปทานย่ำแย่งซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในระดับสูง แต่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกยังไม่เผชิญกับภาวะถดถอย ขณะที่ในวันอังคาร (29/3) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมา -15.5 ในเดือนเมษายน ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -14.0 และต่ำกว่าในเดือนมีนาคม ที่ระดับ -8.5
อย่างไรก็ดีในวันพุธ (30/3) ค่าเงินยูโรได้เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นและเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐจากความผ่อนคลายของนักลงทุนต่อความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการคาดการณ์ว่า การพุ่งขึ้นต่อเนื่องของเงินเฟ้อในเขตยูโรโซนจะเป็นตัวเร่งให้ ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า ภายหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติสเปน (INE) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.8% ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 37 ปี จากระดับ 7.6% ในเดือน ก.พ.
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าดังกล่าวก็อยู่ได้เพียงไม่นานจากการที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปได้แสดงท่าทีคัดค้านจากการที่ประธานาธิบดีส่งสัญญาณในสัปดาห์ที่แล้วว่า ประเทศที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็จะถูกยกเลิกสัญญา ซึ่งรัสเซียจะใช้มาตรการดังกล่าวต่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรของรัสเซีย ส่งผลให้หลายประเทศต่างแสดงความไม่พอใจและแสดงความผิดหวังต่อรัสเซีย และเตรียมการรับมือภาวะขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าสหรัฐจะให้คำมั่นที่จะเพิ่มการส่งออกก๊าซมายังยุโรป แต่คาดว่าจะไม่สามารถทดแทนก๊าซจากรัสเซียได้เต็มจำนวน
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินลงนามในกฤษฎีกาดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0368-1.1184 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 1.1071/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (28/3) ที่ระดับ 122.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 121.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงถูกกดดันจากแรงเทขายเงินเยนของนักลงทุนในตลาดจากความแตกต่างทางด้านนโยบายการเงินระหว่างเฟด และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี แบบไม่จำกัดจำนวน ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.25%
ซึ่งถือเป็นการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อปกป้องเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ เพื่อจำกัดการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น โดยการดำเนินการนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ขณะที่ในส่วนของการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ในวันอังคาร (29/3) ได้มีการเปิดเผยอัตราว่างงานเดือน ก.พ. ลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.7% จากระดับ 2.8% ในเดือน ม.ค. เนื่องจากโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดในญี่ปุ่นนั้น ได้ส่งผลให้ประชาชนยังคงรักษาตำแหน่งงานเดิมของตนไว้ แทนที่จะหางานใหม่ ในวันศุกร์ (1/4) มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 1/2565 ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน และปัญหาคอขวดด้านอุปทานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1/2565 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น ลดลงสู่ระดับ +14 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ +17 ในไตรมาส 4/2564 นอกจากนี้ ผลสำรวจของบีโอเจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ในไตรมาส 2 มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ระดับ +9 และดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคผลิตจะลดลงสู่ระดับ +7 ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 121.26-124.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 122.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance